GANESH

ประวัติความเป็นมา

FORTUNE

พระพิฆเนศปางศรีชูบา ดิษติ กานาปติ

ปาง ๕๑ ตา หรือ ปางที่ ๓๓ ปางแห่งมหาอํานาจและวาสนา

เมื่อปี ค.ศ ๑๙๙๖ (พ.ศ. ๒๕๔๓) T.Bhasskaradoss  ศิลปินชาวอินเดีย ได้บรรจงวาดและร่างแบบของพระพิฆเนศปางนี้ตามความฝันของตนเอง สิ่งที่น่าประหลาดใจภายหลังการร่างแบบเพียงสามวันเขาได้รับการติดต่อจาก  Dr. Velmurugan ให้ไปพบเพื่อที่จะให้ออกแบบ Siddhar’s Manivizha  เมื่อดูภาพยิ่งทำให้ประหลาดใจเพราะปรากฏว่าภาพที่ต้องการให้ดูเป็นภาพที่คล้ายจากความฝันและเป็นภาพของ สวามี Sri Paramjothi  ผู้ซึ่งมาจาก Kuduvilarpatti ใกล้กับเมือง Theni หลังจากที่ได้เห็นภาพแล้วเขาก็ได้เล่าเรื่องความฝันให้ Dr. Velmurugan ฟังจากความบังเอิญของความฝันและภาพ ทั้งคู่จึงไปที่วัดหรืออาราม จึงได้ทราบจากสวามีว่า ภาพที่ปรากฏคือ เทพนามว่า “ศรีชูบา ดิษติ กานาปติ  Sir Shuba Drishti Ganapathy”

T.Bhasskaradoss เป็นผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะประติมากรรม โดยเฉพาะงานปั้นเทวรูปของศาสนาฮินดู ถึงขนาดอุทิศตนเองใช้ชีวิตอยู่ในวัดชิตวารารัม (Chidladaram) เพื่อสร้างงานศิลปะในการปั้นเทวรูปปางต่างๆ ภายในวัดแห่งนี้ และที่สร้างชื่อเสียงให้กับ T.Bhasskaradoss คืองานปั้นรูปพระศิวะปางนาฏราชองค์ใหญ่ที่สุดในอินเดียใต้มาแล้ว เขาเปิดเผยว่า พระพิฆเนศปาง ๕๑ ตา อุบัติมาตามคำทำนายของ มหาฤาษีซึ่งมีชื่อว่า อากัลป์ติยา เมื่อ ๕๑๐๐ ปีที่แล้ว ในคัมภีร์ใบลาน ของวัดชิตวารารัมได้บันทึกไว้ว่า พระฤๅษีองค์นี้ คืออาจารย์ของ พระแม่อุมาเทวี ได้ทำนายก่อนที่ตนเองจะละสังขารว่า หลัง ๕๑๐๐ ปี ไปแล้ว ความเจริญรุ่งเรืองจะบังเกิดขึ้นไปทั่วโลก แต่ในจิตใจของมนุษย์จะเสื่อยถอยลง ไร้ความรักความเมตตา ช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อมนุษย์ด้วยกัน เหล่าองค์มหาเทพเทวาทั้งหลายบนสรวงสวรรค์ไม่อยากช่วยเหลือมวลมนุษย์ บรรดาอสูรทั้งหลายจะเรืองอำนาจ และนำพาให้เกิดโลกแห่งกาลกาลียุค พระฤๅษีองค์นี้ ได้ทำนายต่อไปอีกว่า โลกนี้จะพ้นภัยพิบัติก็ต่อเมื่อพระบรมครูพระพิฆเนศจะทรงพระเมตตา และประทานพรให้ผู้ที่รักและศรัทธาพระองค์อยู่รอดปลอดภัย พระองค์จะอวตารมาอุบัติในรูปของกายทิพย์ ในปาง ๕๑ ตา ซึ่งมีชื่อว่า Shakti Peetas : ซึ่งแปลว่า บุญบารมีซึ่งมาจาก ๕๑ ตา และถือว่าเป็นปางที่สิ้นสุดและสูงสุดขององค์พระพิฆเนศทุกๆปางจะไม่บังเกิดปางหรืออวตารใดๆเกิดขึ้นอีกแล้วกับองค์พระพิฆเนศ
T.Bhasskaradoss ได้บรรจงวาดและร่างแบบ ตามความฝันของตน หลังจากที่ได้ไปค้นพบคัมภีร์ใบลานในวัดดังกล่าวและปั้นเป็นรูปทรงผสมผสานศิลปะแบบประยุกต์จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วประเทศอินเดีย

ต่อมาพิพิธภัณฑ์เทพศรียันตราได้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อนำมาเผยแผ่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยมีชื่อภาษาไทยว่า “พระพิฆเนศปางมงคลจักรวาล 51 ตา” หรือ ปางที่ 33  พร้อมจดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเนื่องจากรูปแบบของพระพิฆเนศปางนี้เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาของมหาชนที่นิยมบูชาเทพ เป็นพระพิฆเนศที่รวมพลังแห่งมหาเทพมารดาผู้เป็นใหญ่บนสรวงสวรรค์ถึง ๕ พระองค์ด้วยกัน อาทิ

๑.พลังแห่งพระแม่ทุรคา คือ ตรีศูลในพระหัตถ์ขวา
๒.พลังแห่งพระแม่คงคา คือ หม้อน้ำที่อยู่บนพระเศียร
๓.พลังแห่งพระแม่อุมา คือ มีดดาบในพระหัตถ์ขวาที่ ๒
๔.พลังแห่งพระแม่ลักษมี คือ บัลลังก์ดอกบัว
๕.พลังแห่งพระแม่ตีรีปูราซุนบารี คือ งูจงอาง ๙ ตัว แผ่พังพานเป็นรัศมีบนพระเศียร และยังมีพลังแห่งเทพบิดา ซึ่งถือเป็นพลังหลักของพระพิฆเนศ ปางนี้โดยเฉพาะ อาทิ

๑.พลังแห่งพระศิวะ คือ พระเนตรศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ทั้ง ๕๑ ดวง
๒.พลังแห่งพระนารายณ์ คือ กระบอง ในพระหัตถ์ซ้ายที่ ๒
๓.พลังแห่งพระพรหม คือ พระสังข์ ในพระหัตถ์ซ้ายที่ ๓
และยังมีพลังจากศาสตราวุธต่างๆ
๑.พลังแห่งพระอัคนีเทพ คือ ดวงไฟ ในพระหัตถ์ซ้าย
๒.พลังแห่งการผูกมัดผู้ที่ประพฤติผิดศีลธรรมให้กลับกลายเป็นคนดี คือ บ่วงบาศ ในพระหัตถ์ซ้ายที่ ๔
๓.พลังแห่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว คือ วงจักรา หลังพระเศียร
๔.พลังแห่งการสะท้อนสิ่งไม่ดีให้ไกลตัว คือ คันฉ่อง ในพระหัตถ์ขวาที่ ๓
๕.พลังแห่งการปกป้องคุ้มครองและขจัดอุปสรรค คือ ขวาน ในพระหัตถ์ขวาที่ ๔

ทั้งหมดนี้ คือพลังอำนาจของพระพิฆเนศ ๕๑ ตา ซึ่งถือว่า เป็นพระพิฆเนศปางแรกและปางเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี สิงโต ได้รับพรพลังจากองค์พระแม่แห่งจักรวาล หนูมุสิกะ เป็นพาหนะของพระพิฆเนศ หมายถึง ความเพียรพยายาม และงู ๙ ตัว เป็นอวตาร พลังมหาสันติ ๕๑ ตาเป็นพลัง ( เคยได้ยินบางคนเรียก”สิงหคณปติ”)ที่จะสามารถประทานพรสุดวิเศษแก่ผู้สักการะบูชาได้แบบครอบจักรวาลโดยเฉพาะพระพรที่ว่าด้วย มหาอำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ และทรงอิทธิพลเสมอผู้เป็นใหญ่บนสรวงสวรรค์ ส่วน “วาสนา” คือ ผู้สำเร็จด้วยธุรกิจการงาน มีคนรักใคร่เมตตา และนำไปสู่ความร่ำรวยในขั้นมหาเศรษฐีทีเดียว

ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าบูชา ท่านจะประทานพรให้คนผู้นั้นพบแต่ความสุข ความเจริญ ความสำเร็จในชีวิตและอีกมากมายหลายประการ ทำให้บางบ้านของชาวอินเดียต้องบูชาพระพิฆเนศปางศรีชูบา ดิษติ กานาปติ Sri Shuba Drishti Ganapathy  เพราะเชื่อกันว่าพระองค์มีพลังอำนาจในการขจัดปัดเป่าความอิจฉาริษยา ทำให้อารมณ์อิจฉาริษยาของคนเบาลงจนกลายเป็นไม่มีอารมณ์อิจฉาเกิดขึ้น

นอกจากนี้ทำให้เจริญรุ่งเรือง ค้าขายมีกำไรมากขึ้น ทำให้จิตใจสงบ สุขภาพแข็งแรง และมีความสุขด้วยโชคลาภ เงินทอง อำนาจ ชื่อเสียง ซึ่งมีประโยชน์ครอบจักรวาลสำหรับผู้ที่เคารพบูชา




วิธีการบูชา

๑.อัญเชิญพระพิฆเนศ ๕๑ ตาหันหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นทิศที่สามารถแก้เคล็ดและสิ่งชั่วร้าย

๒.ทุกวันให้บูชาด้วยดอกไม้ ธูป ไฟ และอารตี วันละ ๑๖ ครั้ง ( หรือเวลาที่สะดวก แต่ไม่ควรขาด )โดยใช้ธูป ๙ ดอกวนอยู่รอบหน้าท่าน ก่อนที่จะปักธูปให้นำธูปไปวนรอบๆห้อง เพื่อล้างสิ่งชั่วร้ายแล้วนำกลับมาปักและสวดมนต์ขอพร

๓.ทุกวันพุธต้องบูชาด้วยขิงสดและน้ำผึ้ง ( เป็นเคล็ดลับ )

คาถาบูชา
(ตั้งนะโม ๓ จบ)
โอม ฮรีม ชรีม ครีม

โกลม กำ กานาปาติเย

วารานามุคเฮ ซาวาราริซตัน

วารายา วารายา โอม สวาฮา

คาถาบูชา (แบบย่อ)

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

โอม ศรีบูชา ดิษติ กานาปติเย นะมะฮา

HISTORY
ประวัติพิพิธภัณฑ์เทพศรียันตรา

พิพิธภัณฑ์เทพศรียันตรา ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๘๓ ถนนกาญจนาภิเษก แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร จัดแสดงในเนื้อที่ มากกว่า ๑๐๐๐ ตารางเมตร ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๖ พิพิธภัณฑ์เทพศรียันตราหนึ่งในเทวะสถานที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความศรัทธา และความปรารถนาอันแรงกล้า ของ อาจารย์ อานนท์ แก้วมโนรมย์ ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้ โดยเริ่มต้นจากความต้องการที่ให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมองค์เทพซึ่งมีนามต่างๆ โดยเฉพาะมหาพิฆเนศวร ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของ อาจารย์อานนท์ เป็นผลจากความเจริญก้าวหน้าทางธุรกิจของ อาจารย์อานนท์ จึงทำให้สถานที่แห่งนี้ มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์เทพศรียันตรา” ซึ่งมาจากภาษาธิเบต แปลว่า “ศูนย์รวมพลังแห่งเทพทั้งหลายในเทวะภูมิ” จะมารวมกันอยู่ ณ ที่อันเป็นมงคลแห่งนี้ และยังได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูป เทวรูป จากประเทศต่างๆ เช่น ทิเบต เนปาล อินเดีย มาประดิษฐาน เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสกราบไหว้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตัวเองและครอบครัว

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากความชื่นชอบต่องานศิลปะ รูปเคารพพราหมณ์ฮินดูของอาจารย์อานนท์ ซึ่งตามความเชื่อดังกล่าวได้กลมกลืนกับวิถีชีวิตคนไทยปัจจุบัน อันมีรากฐานมาจากการผสมผสานอิทธิพลความเชื่อของศาสนาต่างๆ เข้าด้วยกันมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล 

รูปเคารพศาสนาฮินดู ได้แพร่หลายเข้ามาในราชสำนักไทยและประชาชนตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ดังปรากฏหลักฐานประติมากรรมหล่อโลหะรูปเทพเจ้าต่างๆ ตลอดมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๖ ทรงเชี่ยวชาญวรรณคดีฮินดูเป็นอย่างยิ่ง พระราชพิธีสำคัญต่างๆ ก็จะมีพิธีพราหมณ์เข้ามาร่วมกับศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาประจำชาติด้วยเกือบทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในศาสนาฮินดูยุคปัจจุบันมิได้จำกัดเฉพาะในราชสำนักเท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็ให้ความเคารพอย่างมาก ดังจะเห็นได้จาก การสร้างศาลา รูปเคารพไว้ตามหน้าห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา เพื่อให้ช่วยปกป้องรักษา เอื้ออำนวยประโยชน์แก่ผู้บูชา ณ สถานที่นั้นๆ

รูปเคารพและงานประติมากรรมฮินดูที่แพร่หลายเป็นที่รู้จัก และให้ความเคารพนับถืออยู่ในสังคมไทยมีมาก แม้ไม่เท่าอินเดีย องค์เทพที่สำคัญมีครบทุกพระองค์ เช่น พระพรหมผู้สร้างและรังสรรค์ พระนารายณ์ วิษณุเทพ ผู้ปกป้องและคุ้มครอง พระศิวะมหาเทพผู้ทำลายล้าง พระตรีมูรติ พระนางสรัสวดี พระนางลักษมี พระนางปารวดี พระพิฆเนศวร เทพพาหนะต่างๆ พญาหงส์ พญาครุฑ ฯลฯ

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เทพศรียันตร โดยอาจารย์อานนท์  แก้วมโนรมย์ ได้จัดแสดงงานประติมากรรม ปั้น-หล่อ แบบไทยประเพณีวิจิตรศิลป์เรื่องพุทธประวัติ องค์เทพ เทวดา บุคคลสำคัญในวรรณคดี ศิลปะรูปเคารพของอินเดียใหม่ผสมผสานกับงานศิลปะไทย โดยใช้โลหะและวัสดุหลากหลาย โดยมีศิลปินเข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงาน และได้รวบรวมผลงานจากศิลปินที่มีฝีมือเป็นเลิศ

ทางพิพิธภัณฑ์เทพศรียันตรา เปิดให้สักการะและเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ของทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ATMOSPHERE
บรรยากาศภายใน
CONTACT
ติดต่อเรา

พิพิธภัณฑ์เทพศรียันตรา – บางแค 1483 ถนนกาญจนาภิเษก บางแคเหนือ บางแค กรุงเทพมหานคร 10160

โทร 096 654 6159